วันที่ 21 สิงหาคม 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศ
เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ได้ร่วมหารือการจัดทำข้อมูลสนับสนุนการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ของกลุ่มการจัดการของเสียและมลพิษ โดยมีนางพัชรวีร์ สุวรรณิก ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่จากกองนโยบายและแผนแม่บท ณ ห้องประชุมน้ำวัง ชั้น 4 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อปิดช่องว่างของอุปสรรคและสร้างปัจจัยเอื้อให้นโยบายสามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพและปัจจัยที่จะสนับสนุนการมีส่วนร่วมขององค์กรนอกภาครัฐ โดยเฉพาะภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่ในภาวะวิกฤติของกลุ่มการจัดการของเสียและมลพิษประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะ เป้าหมายย่อยที่ 6.3.1 (มลพิษทางน้ำ) ซึ่งปัจจุบันเป็นการรายงานผลจากระบบการบำบัดน้ำเสียแบบชุมชนเท่านั้น ยังขาดผลการบำบัดน้ำเสียของภาคส่วนด้านเศรษฐกิจทั้งหมด รวมถึงภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร ทำให้ภาพรวมของผลการประเมิน SDG อยู่ในระดับวิกฤต และตัวชี้วัดที่ 6.3.2 สัดส่วนของแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำโดยรอบที่ดี
ผู้แทน สทนช. และผู้เข้าร่วมประชุม ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อหัวข้อการหารือ เช่น การรายงานผลต่อ UN ของ สทนช. จะรายงานตามแบบฟอร์มของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตามกลไกของ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ข้อจำกัดในการยกระดับผลการประเมินอาจจะอยู่ที่ข้อจำกัดในเรื่องการบังคับใช้กฏหมาย ความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงานรับโอนภารกิจ งบประมาณ และองค์ความรู้ของผู้ปฏิบัติ ในเบื้องต้น สทนช. เสนอให้เพิ่มการหารือร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลน้ำเสียจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การยกระดับการจัดการคุณภาพน้ำ รวมถึงหารือหน่วยงานระดับท้องถิ่นเพิ่มเติม และเสนอพื้นที่นำร่องเพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึก ได้แก่ พื้นที่รอยต่อระหว่างลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำเพรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงลุ่มน้ำท่าจีน ซึ่งพื้นที่ปลายน้ำอาจกระทบต่อพื้นที่ ramsar site
ทั้งนี้ สทนช. ในฐานะหน่วยงานระดับนโยบายด้านน้ำ ยินดีให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการยกระดับการจัดการน้ำเสีย ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ด้วย
กองนโยบายและแผนแม่บท