วันที่ 29 มิถุนายน 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะผู้แทน สทนช. ประชุมหารือร่วมกับนายไมค์ เกอลิงก์ (Mr.Mike Girling) ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ ศูนย์ระดับโลกด้านการปรับตัว (Global Center on Adaptation :GCA) ณ เมืองรอตเตอร์ดัม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยคำนึงถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และได้เห็นชอบร่วมกันในการดำเนินโครงการฝึกอบรมให้กับบุคลากรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยในประเด็นที่เกี่ยวกับการปรับตัวด้านน้ำในชุมชนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ คณะยังได้เดินทางไปเยี่ยมชม The Keringhuis ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านน้ำ เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการของเนเธอร์แลนด์ในการบริหารจัดการน้ำโดยใช้มาตรการที่เป็นสิ่งก่อสร้าง และรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างประตูกั้นน้ำ The Maeslantkering เพื่อใช้เป็นแนวป้องกันพายุในคลอง Nieuwe Waterweg พื้นที่เซาท์ฮอลแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทาง/นวัตกรรมในการจัดการกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
หลังจากนั้นช่วงบ่าย คณะเดินทางไปยังเมือง Delft เพื่อร่วมหารือกับนายทิดเจ๊ เอ นัวตา ( Mr.Tjitte A. Nauta) ผู้จัดการส่วนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สถาบันเดลตาเรส (Deltares) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการแก้ไขปัญหาและการป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม ก่อนเดินทางต่อไปยังสถาบันศึกษา วิจัยและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำ (IHE Delft Institute for Water Management) เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องในด้านการบริหารจัดการน้ำ อาทิ ธรรมาภิบาลด้านน้ำ การจัดหาน้ำ ไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน เป็นต้น โดย สทนช. ได้เสนอโครงการร่วมกับ GCA และ Deltares ในการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร (capacity building)โดยมุ่งเน้นในเรื่อง Criteria for seawater intrusion monitoring และความร่วมมือกับ IHE Delft ในการส่งบุคลากรเพื่อเข้าร่วมศึกษาด้านน้ำ ณ สถาบัน IHE Delft
อย่างไรก็ตาม การเข้าพบหารือร่วมกับองค์กรด้านน้ำของเนเธอแลนด์ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีในด้านน้ำระหว่างสองประเทศแล้ว ยังเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำและการรองรับการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศระหว่างไทย และเนเธอร์แลนด์ต่อไป
วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะผู้แทน สทนช. หารือร่วมกับนายร็อบเบิร์ต โมรี (Mr.Robbert Moree) ผู้ประสานงานนโยบายด้านทรัพยากรน้ำและสภาพภูมิอากาศ กระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำ (Ministry of Infrastructure and Water Management) ซึ่งเป็นหน่วยงานคู่ภาคีตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผู้แทนจากหน่วยงานคณะกรรมการด้านน้ำแห่งเนเธอร์แลนด์ (Union of Dutch Water Boards) ณ กระทรวงโครงสร้างพื้นฐานฯ กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
สาระสำคัญการหารือมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในระดับนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม (saltwater intrusion) การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation หรือ EbA) การเก็บภาษีน้ำ (water tax) และการจัดตั้งกองทุนน้ำ (water fund) ซึ่งเป็นประเด็นที่เนเธอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญ และมีนวัตกรรมรวมถึงแนวทางการทำงานที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เสนอแนวทางขับเคลื่อนการการดำเนินงานความร่วมมือภายใต้เอ็มโอยูระหว่างไทย-เนเธอร์แลนด์ ใน 3 แนวทางหลัก ประกอบด้วย 1. จัดส่งเจ้าหน้าที่ สทนช. เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนโยบายด้านน้ำและสิ่งแวดล้อม (Water and Environmental Policy) ระยะเวลา 3 เดือน ณ สถาบันศึกษาวิจัยและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำ (IHE Delft Institute for Water Management) รวมถึงการจัดหลักสูตรอบรมให้กับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทย 2. ร่วมกันจัดทำและออกแบบหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านน้ำของไทย (Capacity Building Program) ในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น แผนบูรณาการระดับชาติว่าด้วยการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Integrated National Plan on Climate Change Adaptation), การจัดตั้งกองทุนน้ำ (Water Fund), แนวทางการบูรณาการการบริหารจัดการปากแม่น้ำ (Integrated Delta Approach) เป็นต้น และ 3. การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมดำเนินงาน (Joint Steering Committee: JSC) เพื่อขับเคลื่อนโครงการสำคัญภายใต้ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศ ภายใต้เอ็มโอยูให้เป็นรูปธรรมต่อไป โดยฝ่ายไทยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบให้เร่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้ง 3 ด้าน ทั้งยังแสดงความมุ่งมั่นที่จะสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมภายใต้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องต่อไป