วันที่ 20 ธันวาคม 2566 กลุ่มวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม กองนโยบายและแผนแม่บท ในฐานะฝ่ายเลขานุการ โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัด ริมน้ำโขง ร่วมกับกองการต่างประเทศ จัดประชุมปัจฉิมนิเทศ และการขับเคลื่อนแผนการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ภายใต้โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัด ริมน้ำโขง ณ หอประชุมโรงเรียนไชยบุรีวิทยาคม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยมีวัตถุประสงค์สรุปผลการศึกษา นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและวิธีการปรับตัวของชุมชนเพื่อรองรับความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสีย และนำแผนการฟื้นฟูฯ ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยหนองหาร จังหวัดนครพนม ที่เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้ร่วมกันดำเนินการจัดทำมาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม โดยมีแกนนำภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัด ริมน้ำโขง (จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี) องค์กรผู้ใช้น้ำ และผู้แทนหน่วยงานราชการในพื้นที่เข้าร่วมประชุม
สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยหนองหาร อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่อง ในการดำเนินศึกษาภายใต้โครงการสร้างความเข้มแข็งฯ มีสภาพปัญหาในพื้นที่ ได้แก่ การแพร่ระบาดของจอกหูหนูยักษ์เปรู พืชท้องถิ่นสูญหาย ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง ต้นไม้ถูกรุกราน แหล่งน้ำตื้นเขิน และปัญหาคุณภาพน้ำ เป็นต้น จากปัญหาข้างต้นเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนการฟื้นฟูฯ ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยหนองหาร อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยใช้แนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions: NbS) หรือการนำมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation: EbA) โดยมี 3 มาตรการ 10 แนวทางการจัดการ 26 กิจกรรม คือ 1) มาตรการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยหนองหารเพื่อให้ระบบนิเวศบริการที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต 2) การบริหารจัดการพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยหนองหาร และ 3) การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยหนองหารอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแผนการฟื้นฟูฯ ได้หยิบยกบางกิจกรรมภายใต้มาตรการข้างต้นมาดำเนินการขับเคลื่อน เช่น กิจกรรมกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและพืชท้องถิ่น กิจกรรมการปลูกไม้ท้องถิ่นทดแทนป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการป่าไม้และอนุรักษ์ป่าไม้ และกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่นคืนสู่ธรรมชาติ เป็นต้น
อีกทั้งในการดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งฯ ได้เสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ การขับเคลื่อนแผนการฟื้นฟูฯ ของชุมชนในอีก 7 จังหวัด การส่งเสริมการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมหลายภาคส่วน การสร้างแหล่งสืบค้นข้อมูลร่วมกัน การจัดอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามริมน้ำโขง และการส่งเสริมการเพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่นและสัตว์น้ำเศรษฐกิจแม่น้ำโขง เป็นต้น ซึ่ง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปขับเคลื่อนและผลักดันให้เป็นรูปธรรมในระยะถัดไปได้