วันที่ 19 ธันวาคม 2566 กองนโยบายและแผนแม่บทร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้มาตรการเชิงนิเวศในการฟื้นฟูแหล่งน้ำ

วันที่ 19 ธันวาคม 2566 กลุ่มวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม กองนโยบายและแผนแม่บท ในฐานะฝ่ายเลขานุการ โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัด ริมน้ำโขง ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้มาตรการเชิงนิเวศในการฟื้นฟูแหล่งน้ำ ณ โรงเรียนไชยบุรีวิทยาคม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยมีแกนนำ 8 จังหวัดริมน้ำโขง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราธานี ร่วมกิจกรรมและให้ความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำของพื้นที่ตนเอง โดยกิจกรรมนี้มุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ โดยใช้การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based solutions: NbS) หรือการนำมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation: EbA) ให้แก่เครือข่ายภาคประชาสังคมในการจัดทำแผนงานด้านน้ำที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

ในการรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนการฟื้นฟูฯ ในปี 2566 ได้คัดเลือกอ่างเก็บน้ำห้วยหนองหาร จังหวัดนครพนม ซึ่งเชื่อมต่อกับพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง เป็นพื้นที่นำร่อง รวมถึงภายใต้กิจกรรมฯ ได้พิจารณาและให้ความเห็นคิดต่อ (ร่าง) แผนการฟื้นฟูฯ ในพื้นที่ 7 จังหวัด เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนในระยะถัดไปให้มีความสมบูรณ์และครบถ้วนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคมทั้ง 8 จังหวัด ยังร่วมสะท้อนสภาพปัญหา สาเหตุ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขง เช่น การลดลงของพันธุ์ปลา การลดลงของต้นไคร้น้ำ ปัญหาการดูดหินดูดทราย และวิถีชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การปรับตัว และการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงร่วมกัน เช่น การกำหนดเขตอภัยทาน การทำธนาคารปลาและอนุบาลลูกปลาก่อนปล่อยลงแม่น้ำ การทำข้าวอินทรีย์ และการสร้างแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อให้เครือข่ายภาคประชาสังคมทั้ง 8 จังหวัด นำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเองต่อไป